วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559

โรคเท้าเหม็น …คุณเป็นหรือเปล่า




  โรคเท้าเหม็น (Pitted Keratolysis)เป็นโรคที่พบมากในเขตร้อนพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ชายและผู้หญิง แต่จะพบได้บ่อยในผู้ชายเพราะจะมีเหงื่อออกที่ฝ่าเท้ามากกว่า และผู้ชายมักสวมถุงเท้าอยู่ตลอดเวลาจึงทำให้เกิดการหมักหมมบริเวณเท้า


    คนเป็น โรคเท้าเหม็น หากสังเกตก็จะเห็นหลุมเล็กๆ ที่ฝ่าเท้าบางครั้งหลุมอาจรวมตัวกันเป็นแอ่งเว้าตื้นๆ มักพบตามฝ่าเท้าที่รับน้ำหนักและที่ง่ามนิ้วเท้า


     อาการที่แสดงออกมาของโรคเท้าเหม็นคือ ร้อยละ 90 เท้ามีกลิ่นเหม็นมาก ร้อยละ 70 คือเวลาถอดถุงเท้าจะรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้า ส่วนอาการคันนั้นพบได้น้อยเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น



วิธีการรักษา โรคเท้าเหม็น

1. พยายามทำให้เท้าแห้งอยู่เสมอโดยอาจใช้แป้งฝุ่นฆ่าเชื้อโรยที่เท้าหรือยารักษาสิว (Benzoyl Peroxide)ก็นำมาใช้ได้เช่นกัน นอกจากนั้นก็อาจใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อราชนิดทาก็ได้


2.โบทอกซ์ที่ใช้แพร่หลายกันในเรื่องการลดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าก็สามารถนำมาใช้รักษาโรคเท้าเหม็นได้ด้วย โดยการฉีดโบทอกซ์เข้าไปที่ฝ่าเท้าเพื่อลดเหงื่อที่ออกมากๆประมาณ 6-12 เดือน ก็จะเห็นผล (วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก 10,000-20,000 บาท ต่อครั้ง)


3. การใช้ไอออนโตเพื่อลดเหงื่อซึ่งเป็นวิธีการที่ปฏิบัติกันมากว่าเจ็ดสิบปีแล้วโดยทำบริเวณที่มีเหงื่อให้เหงื่อออกมาครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งจนเหงื่อที่ออกลดลงเป็นปกติ วิธีนี้ไม่เจ็บ ไม่แพงแต่ก็ไม่นิยมในบ้านเรา


4. แช่เท้าในน้ำล้างเท้าผสมสูตรระงับกลิ่นทุกวันโดยใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที



สูตรผสมน้ำระงับกลิ่นเท้า

– น้ำอุ่นผสมน้ำส้มสายชูกับด่างทับทิม

– น้ำอุ่นผสมส้มฝานบางๆ อาจใช้มะนาวแทนก็ได้

– น้ำอุ่นผสมกระเทียมทุบ 2-3 กลีบ

– น้ำอุ่นผสมน้ำมะขามเปียก

– น้ำชาจีนอุ่นๆ ต้มแก่ๆ (สูตรนี้จะไม่ถูกกรดอ่อนๆ กัดเท้าเหมือนสูตรอื่น)



7 เคล็ดลับรักษาเท้าให้น่าคลั่งไคล้ 

1. จงเข้าใจว่าศัตรูของเท้าไม่ใช่ความแห้ง แต่เป็นกลิ่น ดังนั้นไม่ควรหมักหมมเท้าไว้ในรองเท้าให้นานเกินไปควรหาเวลาถอดเพื่อระบายเหงื่อหรือใช้สเปรย์แป้งเพิ่มความสดชื่นให้แก่เท้าอยู่เสมอ


2. เวลาล้างเท้าควรล้างอย่างพิถีพิถันโดยเฉพาะบริเวณแต่ละง่ามนิ้วเท้าควรใช้สบู่เด็กหรือผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดโดยเฉพาะเพราะบริเวณนั้นเป็นแหล่งรวมของเชื้อราเลยทีเดียว จากนั้นก็ล้างด้วยน้ำสะอาดให้หมดจด


3. ควรประณีตกับการล้างเท้าสักหน่อย โดยการใช้ หินลอย (Pumice Stone) มาขัดหนังที่แข็งกระด้างออกและไม่ลืมที่จะใช้เวลาในการเช็ดเท้าให้แห้งสนิทมากที่สุดด้วย


4. แล้วเมื่อเท้ามีอาการปวดเมื่อยจากการเดินหรือวิ่งก็ตาม ง่ายๆเลยเพื่อระงับความปวดเมื่อยคือ การนำเท้าไปแช่น้ำอุ่น (ผสมเกลือ)สัก 10-15 นาทีแล้วยกออก ตามด้วยการจุ่มน้ำเย็นสัก 1-2 นาที ก็จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายและยังทำให้ผิวเท้านุ่มขึ้นอีกด้วย


5. เมื่อมีเวลาว่างเมื่อใด ก็ควรนำเท้าไปนวดครีมหรือนวดน้ำมันเพื่อรักษาผิวให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ


6. ไม่ควรใส่รองเท้าที่คับจนเกินไปเพราะนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดแล้ว ยังทำให้เกิดแผลและตาปลาอีกด้วย


7. ไม่ควรทำเล็บที่ร้านเสริมสวยหรือใช้เครื่องมือของทางร้านเพื่อป้องกันความสกปรกหรือโรคผิวหนังที่จะติดมากับเครื่องมือเหล่านั้น (ทำด้วยตัวเองดีที่สุด)


 ที่มา :  http://women.mthai.com/beauty/health/19435.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น